ขอบข่ายในการนำ มยผ. 1301-54 ไปใช้งาน – ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวไทย

มาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว หรือ มยผ. 1301-54 เป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ในมาตรฐานฉบับนี้มีขอบข่ายการใช้งานดังนี้

  • มาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ฉบับนี้เป็นข้อเพิ่มเติมมาจากกฎกระทรวงการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้การออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารควบคุมตามกฎกระทรวง มีความมั่นคงและปลอดภัย
  • ข้อกำหนดในมาตรฐานนี้ไม่ครอบคลุมงานก่อสร้างถนน สะพาน เขื่อน อุโมงค์และอาคารชั่วคราว
  • ข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะและรูปทรงของโครงสร้างสำหรับการจำแนกอาคารตามลักษณะและรูปทรงของอาคาร เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดรูปทรงของอาคารในกฎกระทรวง
  • ข้อกำหนดการเสริมเหล็กของโครงต้านแรงดัดที่มีความเหนียวจำกัด เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับการออกแบบโครงสร้างอาคารที่ใช้โครงต้านแรงดัดเป็นโครงสร้างต้านแรงด้านข้างและเป็นข้อกำหนดที่นอกเหนือจากข้อกำหนดคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วไป
  • ข้อกำหนดการเสริมเหล็กของโครงต้านแรงดัดที่มีความเหนียวจำกัด ไม่รวมถึงองค์อาคารที่ไม่ระบุให้เป็นส่วนของระบบรับแรงทางข้าง (Members not Designed as Part of the Lateral-Force-Resisting System) ยกเว้นแผ่นพื้นสองทางแบบไร้คานที่ไม่เป็นส่วนของระบบรับแรงด้านข้างที่ผู้ออกแบบจะต้องปฏิบัติตามข้อ 7.4 และ 4.8 ของ มยผ. 1301-54
  • หากไม่มีการระบุเป็นอย่างอื่น การรวมน้ำหนักบรรทุก (Load Combinations) ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยให้แทนผลของแรงลมด้วยแรงแผ่นดินไหวตามกฎกระทรวง ข้อกำหนดนี้พิจารณาว่าแรงแผ่นดินไหวเป็นแรงทางข้างเช่นเดียวกับแรงลม ดังนั้นหลักการรวมน้ำหนักบรรทุกจึงใช้แบบเดียวกับแรงลม
  • ข้อกำหนดการเสริมเหล็กของโครงต้านแรงดัดที่มีความเหนียวจำกัดในบริเวณเฝ้าระวังอย่างน้อยให้ปฏิบัติตามข้อ 8 ของ มยผ. 1301-54
  • มาตรฐานฯใช้หน่วย SI (International System Units) เป็นหลัก (N, mm) โดยการแปลงหน่วยของแรงใช้ 1 กิโลกรัมแรง (kgf) เท่ากับ 9.806 นิวตัน (N)