ความรู้แผ่นดินไหวสำหรับประชาชน – ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวไทย

ที่ผ่านมาจะพบว่าประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยจากเครื่องมือตรวจวัดของกรมทรัพยากรธรณี พบว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่อำเภอแม่ลาว โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปราว 6 กิโลเมตร จากพื้นดิน  และเกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายร้อยครั้ง

รูปที่ 1 จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว จ.เชียงราย

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โครงสร้างอาคาร บ้านพักอาศัย โรงเรียนเกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน ดังแสดงในรูปที่ 2  จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงการออกแบบต้านทานแรงแผ่นดินไหวมากขึ้น ซึ่งจากการเข้าสำรวจการก่อสร้าง (ดูรูปที่ 3) หลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวไปได้ประมาณ 2 ปี พบว่าบ้านพักอาศัย อาคารสำคัญในจังหวัดเชียงราย ได้เห็นความสำคัญของการออกแบบเพื่อต้านทานแรงแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตกันมากขึ้น


รูปที่ 2 ตัวอย่างความเสียหายจากแผ่นดินไหว จ. เชียงราย วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557


รูปที่ 3 การเข้าสำรวจ

เมื่อเราพิจารณาถึงเมืองหลวงกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวเสียทีเดียว เนื่องจากกรุงเทพฯมีปัจจัยเสี่ยง 3 ประการคือ

  1. กรุงเทพฯตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนที่ขยายแรงสั่นสะเทือนได้มาก
  2. รอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ใกล้ๆกรุงเทพฯนั่นคือรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีมีระยะห่างจากกรุงเทพฯราวๆ 300 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งจัดเป็นระยะอันตรายที่ก่อให้เกิดผลเสียหายกับอาคารบ้านเรือนในกรุงเทพฯได้ ในอดีตที่ผ่านเมื่อปี 2526 รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์มาแล้ว จึงนับเป็นรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่
  3. อาคารบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างต่างๆในกรุงเทพฯแทบจะไม่ได้ออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหว

ถึงแม้ว่าจะมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นหลายครั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนจะเกิดขึ้นถี่เพิ่มขึ้นกว่าในอดีต แต่เมื่อย้อนกลับไปดูสถิติการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลก 10 ปีย้อนหลังจะพบว่า โลกของเรามีแผ่นดินไหวใหญ่น้อยเกิดขึ้นปีละราว 500,000 ครั้ง จากสถิตพบว่าราวหนึ่งในห้าของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก คนรับรู้ได้ แต่จะมีแผ่นดินไหวเพียงหนึ่งในห้าพันเท่านั้นของกี่เกิดทั่วโลกที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือนมักจะมีขนาดเกิน 5.5 ริกเตอร์ขึ้นไปและเกิดในที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่เยอะๆ และอาคารไม่ได้ก่อสร้างมาอย่างดี

หากสังเกตให้ดีจะพบว่าแผ่นดินไหวจะเกิดชุกชุมในบางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศเหล่านี้ตั้งอยู่บนขอบรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกในแนวของ วงแหวนไฟ (Ring of fire) (ดูรูปที่ 5.4) ซึ่งเป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกมีรูปร่างคล้ายกะลามะพร้าวมีความยาวถึง 40,000 กว่ากิโลเมตร แนววงแหวนไฟนี้เป็นบริเวณที่มีการเกิดแผ่นดินไหวถึง 80-90% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อดูภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทย นับว่าเป็นความโชคดีที่เราตั้งอยู่ค่อนข้างไกลจากแนวของวงแหวนแห่งไฟ จึงไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงภายในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม บนแผ่นยูเรเซียที่ประเทศไทยตั้งอยู่ยังมีรอยแตกแขนงมากมายภายในแผ่น ซึ่งนักธรณีวิทยาเรียกว่ารอยเลื่อน ซึ่งยังมีพลังอยู่และพร้อมจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้


รูปที่ 4 วงแหวนไฟ (Ring of fire)

สำหรับอาคารที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารสูงๆเสมอไป อาคารเตี้ยๆ 1 หรือ 2 ชั้นก็อาจจะเสี่ยงที่จะถล่มได้หากก่อสร้างไม่ถูกวิธี ดังเช่น อาคารที่ก่อสร้างด้วยอิฐก่อไม่เสริมเหล็ก เป็นต้น อาคารที่เข้าข่ายเสี่ยงคืออาคารพาณิชย์ หรือ ตึกแถว (ดูรูปที่ 5) เพราะ อาคารพวกนี้ส่วนมากจะนิยมประหยัดคือจะใช้เสาที่มีขนาดเล็ก ใส่เหล็กเสริมน้อย บางครั้งการก่อสร้างไม่มีการออกแบบทางวิศวกรรม และไม่มีแม้กระทั่งวิศวกรมาควบคุมงาน ทำให้คุณภาพของอาคารไม่ดี นอกจากนี้ตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์มักจะเปิดโล่งด้านหน้าด้านเดียวเพื่อใช้ทำการค้า ในขณะที่ก่อกำแพงอิฐล้อมรอบอีก 3 ด้านที่เหลือ ดังนั้นหากมีแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงอาจจะทำให้อาคารล้มลงมาทางด้านหน้าที่ไม่มีแพงได้

 
รูปที่ 5 ลักษณะของอาคารพาณิชย์ หรือ ตึกแถว