ที่มาของศูนย์


สืบเนื่องจากในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นทั่วโลกบ่อยครั้งมากขึ้น เริ่มต้นจากที่นครไครสต์เชิรช์ ประเทศนิวซีแลนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ ที่นอกชายฝั่งตะวันออกของเกาะฮอนชู ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ตามมาด้วยการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศพม่าใกล้ชายแดนไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 และในปี 2555 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 และ 8.2 ริกเตอร์ที่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 และแผ่นดินไหวระดับกลางที่เกาะภูเก็ตเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 และล่าสุดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่อำเภอพานเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อสาธารณชนดังปรากฏเป็นข่าวตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าในหลายๆประเทศเช่น ประเทศญี่ปุ่น และประเทศนิวซีแลนด์ แม้ว่าจะมีการเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวที่ดีก็ตาม แต่ก็ยังได้รับความเสียหายอย่างหนักและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่สำคัญ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ตั้งอยู่ในแนววงแหวนไฟที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แต่ประเทศไทยก็มีรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ถึง 13 รอยเลื่อน ซึ่งบางรอยเลื่อนสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางคือขนาด 5-6 ริกเตอร์ ขึ้นไปได้ และหากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น ก็สามารถทำลายบ้านเรือนให้เสียหายและทำให้ประชาชนเสียชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่นแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่ จ. เชียงราย ซึ่งมีศักยภาพในการทำลายบ้านเรือนและทำให้เกิดความเสียหายได้ในระดับอำเภอ (ในรัศมี 30-40 กม.) แต่หากความรุนแรงเกิดขึ้นถึง 7 ริกเตอร์ อาจจะสร้างความเสียหายได้ทั้งจังหวัด สำหรับแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทุกๆตำแหน่งในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน จึงนับว่าอันตรายเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโครงสร้างที่ไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวมาก่อน

สำหรับกรุงเทพมหานครเอง ก็ไม่ได้ถือว่าปลอดภัยจากแผ่นดินไหวเสียทีเดียว เนื่องจากชั้นดินของกรุงเทพฯเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนซึ่งเป็นดินตะกอนชุ่มน้ำที่สามารถไหวตัวได้ง่าย และมีศักยภาพในการขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้ถึง 3-4 เท่า จึงทำให้อาคารเกิดการสั่นไหวได้อย่างรุนแรง แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไร ดังปรากฏอย่างชัดเจนแล้วว่าประเทศไทยก็จัดว่ามีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวในระดับปานกลาง การเตรียมความพร้อมรับมือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับภาพรวมการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวเริ่มมีมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.3 ริกเตอร์ ในมหาสมุทรอินเดีย และทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนถึง 8000 คนเฉพาะในประเทศไทย ในปัจจุบัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้สนับสนุนชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินงานมาถึงงานวิจัยระยะที่ 4 ซึ่งมีนักวิจัยร่วมทำงานวิจัยในโครงการนี้มาจากหลายสถาบันและหน่วยงาน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น ทำให้เกิดกลุ่มเครือข่ายนักวิจัยที่สามารถผลิตงานวิจัยได้จำนวนมากในรอบระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่ได้สร้างขึ้นมาจำนวนมากเหล่านี้ จำเป็นจะต้องนำส่งไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานวิจัยที่สามารถนำผลงานไปใช้อย่างกว้างขวางต่อไป

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเผยแพร่งานวิจัยไปสู่กลุ่มเป้าหมายอันได้แก่ วิศวกร ช่างท้องถิ่น และชาวบ้าน จึงทำให้เกิดโครงการ เผยแพร่ความรู้งานวิจัยเรื่องแผ่นดินไหวสู่วิศวกรและชุมชน ซึ่งส่วนผลสัมฤทธิ์ตัวหนึ่งที่โครงการได้ตั้งไว้ก็คือการนำความรู้ที่ค้นพบเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ภายใต้ชื่อ ศูนย์ข้อมูลทางด้านแผ่นดินไหวแห่งประเทศไทย (Thailand Earthquake Information Center, TEIC) อันจะได้เป็นสื่อกลางที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ง่ายและตรงจุด