รูปแบบความเสียหายในจังหวัดเชียงราย – ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวไทย

ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว และแนวทางการเสริมกำลัง

ในหัวข้อนี้ได้แสดงรูปแบบความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากแผ่นดินไหวที่เชีนงรายเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2557 และแผ่นดินไหวครั้งสำคัญๆของโลก เพื่อเป็นการศึกษาความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว และแนวทางการเสริมกำลังที่เหมาะสม

ความเสียหายจากแผ่นดินไหวขนาด 3 ริกเตอร์ ในจังหวัดเชียงราย

จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหาย อาคารพักอาศัย อาคารพาณิชย์ วัด และสะพานลอย ในเขต อ.พาน และ อ.แม่ลาว จ. เชียงราย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ภายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ ศูนย์กลางที่ ต. ทรายขาว อ.พาน อยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 6 กม. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สอง รองจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ จ.น่าน เมื่อ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 ที่มีขนาด 6.5 ตามมาตราริกเตอร์ โดยแรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้างในระยะ 30 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลาง และมีแผ่นดินไหวตามมากว่า 730 ครั้ง โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน อ.พาน จ.เชียงราย นั้นได้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แต่แผ่นดินไหว มีขนาด 5.1 ริกเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2537 ศูนย์กลาง อ.เวียงป่าเป้า แต่ส่งผลให้โรงพยาบาลพาน ต้องทุบทิ้งและสร้างใหม่ แผ่นดินไหวทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดจากรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนย่อยที่ยังมีพลังอยู่ ความยาวรวมกันประมาณ 90 กม. (กรมทรัพยากรธรณี, 2554) ดังแสดงรูปที่ 1-1
damage1-1-1684630

รูปที่ 1-1 ศูนย์กลางแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนพะเยา

ที่มา: http://www.dmr.go.th/images/tem2013_November/Map_Tambon_cr-aftershock_File1.png

จากรูปที่ 1-2 จะเห็นว่ากลุ่มรอยเลื่อนพะเยา เป็นรอยเลื่อนที่มีสองส่วน ได้แก่ส่วนเหนือและส่วนใต้ที่มีแนวการวางตัวแตกต่างกัน และแยกออกจากกันชัดเจน โดยรอยเลื่อนส่วนใต้มีการวางตัวในแนวเกือบทิศเหนือ-ใต้ ค่อนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ตัดผ่านด้านทิศตะวันตกของขอบแอ่งพะเยาบริเวณเขตรอยต่อระหว่างอำเภอพาน อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางส่วนรอยเลื่อนนี้มีความยาวประมาณ 35 กิโลเมตร แสดงลักษณะของผารอยเลื่อนหลายแนวและต่อเนื่องเป็นแนวตรง หันหน้าไปทิศตะวันออก บริเวณพื้นที่อำเภอเด่นชัยมีหน้าตัดสูง 200 เมตร ทางน้ำสาขาต่างๆ ที่ตัดผ่านผารอยเลื่อนนี้ แสดงรอยกัดเซาะลงแนวดิ่งลึกมากจนถึงชั้นหิน และฐานผารอยเลื่อนก็แสดงความชันมากเห็นได้ชัดเจน ซึ่งแสดงว่ายังคงมีพลังไม่หยุดนิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวจนเกิดความเสียหายมากที่สุดที่ประเทศไทยเคยบันทึกประสบกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2537 มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีความรุนแรงขนาด 5.2 ตามมาตราริกเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับโรงพยาบาลอำเภอพาน จนต้องทุบทิ้งสร้างใหม่ รวมทั้งวัด และโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย สำหรับรอยเลื่อนส่วนเหนือ มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ที่พาดผ่านอำเภอแม่สรวย ถึงอำเภอแม่ลาว ของจังหวัดเชียงราย ในบริเวณนี้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงขนาดปานกลาง บ่อยครั้งมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2553 กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า กลุ่มรอยเลื่อนพะเยามีความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร และแบ่งรอยเลื่อนย่อยออกเป็น 17 รอยเลื่อนย่อย เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 4,000 ปี ด้วยขนาด 6.7 ตามมาตราริกเตอร์ จากรอยเลื่อนย่อยวังทอง

รูปที่ 1-2 กลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลัง โดยเฉพาะรอยเลื่อนพะเยาที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.แม่ลาว อ.พาน จ.เชียงราย

ที่มา: กรมทรัพยากรธรณี

แม้ว่าจะไม่พบผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่อ.แม่ลาว อ.พาน จ.เชียงรายโดยตรง แต่พบผู้เสียชีวิตโดยอ้อม 2 ราย ได้แก่ นางแสง รินคำ อายุ 83 ปี ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว ถูกผนังบ้านล้มทับศรีษะ และอีกรายคือนายคมสัน แพร่อ้อย อายุ 91 ปี ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย และยังพบผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 23 ราย

ผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดได้แก่ อาคาร บ้านเรือน ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย สรุปสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ว่าพื้นที่ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งสิ้น 7 อำเภอ 47 ตำบล 478 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายรวม 8,935 หลัง โดยที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง 116 หลัง ได้รับความเสียหายบางส่วน 8,463 หลัง วัด 99 แห่ง โดยเฉพาะวัดร่องขุ่น ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ภาพจิตกรรมฝาผนังในโบสถ์เกิดรอยร้าว ยอดฉัตรเจดีย์และอาคารหักเสียหาย สำหรับวัดอุดมวารี ตำบลทรายขาว เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น หักลงเนื่องจากแรงสั่นสะเทือนและไม่มีเหล็กเสริมภายในที่เพียงพอ และยังพบโบสตถ์คริสต์ 7 แห่งที่ได้รับความเสียหาย โรงเรียน 35 แห่ง โดยเฉพาะโรงเรียนที่เสียหายหนัก ต้องทุบทิ้งและสร้างใหม่ 5 โรง มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท  อาคารโรงยิมเนเซียมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เขตพื้นที่เชียงราย ผนังเกิดรอยร้าวไม่สามารถใช้งานอาคารได้จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณซ่อมและปรับปรุง  สถานพยาบาล 25 แห่งได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะโรงพยาบาลแม่ลาว อาคารผู้ป่วยเดิมร้าวและทรุด เสาบางต้นสามารถมองเห็นเหล็กเสริมภายในได้ สำหรับโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงราย ได้แก่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อาคารเกิดความแยกของผนังเท่านั้น กระจกในอาคารแตก แต่ไม่ได้รับความเสียหายถึงโครงสร้างภายใน เนื่องจากอาคารตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว มากกว่า 25 กิโลเมตร พบว่าเสียหายกับโรงงานอุตสาหกรรม 6 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง ถนน 5 สาย โดยเฉพาะทางหลวงสาย 118 ที่ตัดผ่านอำเภอแม่ลาว ช่วง กิโลเมตร 147-152 มีการบิดตัวเสียรูปเกือบทั้งหมด ผิวการจราจรแตกหักเสียหาย (รูปที่ 1-3 และรูปที่ 1-4) เกิดความแตกต่างของผิวจราจรต่างระดับกัน ตลิ่งพัง 1 แห่ง สะพาน 1 แห่ง และคอสะพาน 5 แห่ง เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้ได้ข้อคิด บทเรียนหลายประการ ที่ควรจะนำมาปรับใช้ในการออกแบบอาคาร เพื่อให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวอย่างเหมาะสมต่อไป

รูปที่ 1-3 ความเสียหายของทางหลวงสาย 118
ที่มา: ภาพข่าวจาก truelife.com

รูปที่ 1-4 ความเสียหายของทางหลวงสาย 118
ที่มา: ภาพข่าวจาก ASTV

อาคารที่ได้สำรวจได้แก่อาคารเรียน 4 ชั้น ใต้ถุนโล่ง ของ โรงเรียน พานพิทยาคม อ.พาน จ.เชียงราย ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 15 กม. อาคารดังกล่าวก่อสร้างเสร็จเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2538 ตามแบบของกรมสามัญศึกษา เป็นอาคารเรียนสูง 4 ชั้นประกอบด้วยห้องเรียน 24 ห้องเรียน รองรับนักเรียน 1,200 คน อาคารดังกล่าวมีการต่อเติมชั้นที่ 1 โดยก่อผนังปิดในชั้นที่ 1 ดังรูปที่ 1-5 เพื่อปรับปรุงเป็นห้องสมุด ความเสียหายที่พบเป็นความเสียหายเนื่องจากแรงเฉือนในเสา ความอ่อนแอของอาคารนี้เกิดขึ้นจาก ตามแบบเดิมต้องการให้ชั้นล่างเป็นพื้นที่โล่งเพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรม ทำให้ชั้นล่างอ่อน (soft story) เสาชั้นล่างในทิศตามขวาง มีเพียง 2 ต้น ในขณะที่เสาชั้น 2 ถึงชั้น 4 มี 4 ต้นในทิศตามขวาง ทำให้ขาดความต่อเนื่องของเสาจากชั้นบนลงมาถึงชั้นล่าง ดังรูปที่ 1-6 เมื่อเกิดแรงกระทำทางข้างจากแผ่นดินไหวขึ้น เสาที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว มีรายละเอียดการเสริมเหล็กปลอกที่ไม่เหมาะสม มีระยะเรียงเหล็กปลอกประมาณ   30 ซม. เหล็กเสริมตามยาวยังเป็นเหล็กเส้นกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 มม. ไม่สามารถต้านทานแรงเฉือนที่เกิดขึ้นได้ จึงเกิดการวิบัติแบบเฉือนในเสาเกือบทุกต้นในชั้นล่าง เหนือตำแหน่งที่ก่อผนังขึ้น รูปที่ 1-7

 

รูปที่ 1-5 อาคารเรียน 4 ชั้นโรงเรียน พานพิทยาคม

รูปที่ 1-6 ตามขวางอาคารมีเสาเพียง 2 ต้นในชั้น 1 ในขณะที่ชั้นบนมีเสา 4 ต้น

(a) รอยร้าวเฉือนที่ตรวจพบในเสาด้านหน้าอาคาร (b) รอยร้าวเฉือนที่ตรวจพบในเสาด้านหลังอาคาร
(c) เหล็กเสริมตามยาวเป็นเหล็กเส้นกลม เหล็กปลอกมีระยะเรียงที่ห่างเกินไป (d) รอยร้าวเฉือนเกิดขึ้นด้านบนกำแพงอิฐ

รูปที่ 1-7 รูปแบบความเสียหายของเสาจากแรงเฉือน ที่ตรวจพบในอาคาร 4 ชั้น โรงเรียน พานพิทยาคม
อ.พาน จ.เชียงราย

นอกจากนี้ยังพบรอยแตกร้าวในแนวทแยงในผนังเนื่องจากการเคลื่อนตัวของโครงสร้างอาคารทำให้เกิดแรงดึงทแยงในผนัง ดังแสดงในรูปที่ 1-8 เมื่อขึ้นไปสำรวจในชั้น 2 ถึงชั้น 4 ไม่พบความเสียหายใดๆ พบความเสียหายบริเวณบันได และชานพัก ระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 โครงสร้างคาน เสา และผนัง ได้รับความเสียหาย ดังรูปที่ 1-9 ในวันที่เข้าสำรวจ อาคารหลังนี้กำลังถูกรื้อถอนเพื่อเตรียมตัวก่อสร้างใหม่ด้วยงบประมาณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี

(a) ใต้ถุนอาคารที่มีลักษณะเปิดโล่งและรอยร้าวทแยงที่พบในผนัง (b) ผนังกระจกเหนือกำแพงทั้งหมดแตก และถูกรื้อถอนออก

รูปที่ 1-8 รอยร้าวทแยงที่ตรวจพบในผนังอาคารชั้น 1 โรงเรียน พานพิทยาคม

 
(a) รอยร้าวที่ตรวจพบในชานพักบันได (b) ชั้น 2 ไม่พบความเสียหายใดๆ ต่อโครงสร้าง

รูปที่ 1-9 ความเสียหายตำแหน่งอืน ๆ ที่ตรวจพบ

แต่เมื่อพิจารณาอาคารที่อยู่ข้างเคียง 2 หลัง เป็นอาคาร 3 ชั้น ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (รูปที่ 1-10(a-b)) ทั้งนี้เนื่องจากอาคาร 3 ชั้น มีจำนวนเสาในชั้นล่าง มี 4 ต้นในทิศตามขวาง มีความต่อเนื่องของเสาตั้งแต่ชั้นบนจนถึงชั้นล่าง ประกอบกับน้ำหนักอาคารที่เบากว่า จึงไม่ได้รับผลกระทบต่อโครงสร้าง มีความเสียหายเพียงส่วนสถาปัตยกรรมเช่น รอยร้าวตามรอยต่อผนังเท่านั้น ส่วนอาคาร 3 ชั้นอีกหลังในรูปที่ 1-11(c) ไม่ได้รับความเสียหายเช่นกัน ทั้งนี้อาจเนื่องจากทิศทางที่แรงแผ่นดินไหวกระทำ กระทำในทิศทางตามยาวของอาคารซึ่งมีสติฟเนสที่สูงกว่าตามขวาง อีกทั้งมีความต่อเนื่องของเสาตั้งแต่ชั้นบนจนถึงชั้นล่าง จึงไม่ได้รับความเสียหายที่โครงสร้าง มีเพียงความเสียหายทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น

(a) อาคาร 3 ชั้นที่อยู่ข้างเคียง อาคารโรงเรียน พานพิทยาคม (b) ชั้น 1 ของอาคาร 3 ชั้นที่อยู่ข้างเคียง อาคารโรงเรียน พานพิทยาคม เสา 4 ต้นตามแนวขวาง

(c) อาคาร 3 ชั้นที่อยู่ข้างเคียงอีกหลัง แต่ไม่ได้รับความเสียหาย

 

(d) ทิศทางที่แรงแผ่นดินไหวกระทำ

รูปที่ 1-10 อาคาร 3 ชั้นที่อยู่ข้างเคียงแต่ไม่ได้รับความเสียหาย

โรงเรียนหลังที่ 2 ที่ได้เข้าสำรวจเป็น โรงเรียน แม่ลาววิทยาคม ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย อาคารที่ได้รับความเสียหายมีถึง 3 หลัง โดยต้องทุบทิ้งและก่อสร้างใหม่ทั้งหมด

อาคารหลังที่ 1 ชื่อว่าอาคาร 3 เป็นอาคาร 3 ชั้น (รูปที่ 1-11) เดิมเป็นอาคารใต้ถุนโล่ง และมีการต่อเติมก่อผนังปิดเพื่อใช้พื้นที่เป็นห้องพักอาจารย์และห้องสมุด อาคารมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเสาอยู่ 3 ต้นในแนวตามขวางอาคาร ขาดความต่อเนื่องจากเสาในชั้นบนจนถึงชั้นล่างเช่นกัน พบความเสียหายอย่างหนักที่เสาเนื่องจากแรงเฉือนบริเวณใต้คานชั้น 2 (รูปที่ 1-12) โดยเฉพาะตำแหน่งเสาที่มีกำแพงอิฐก่อปิด เนื่องจากมีสติฟเนสที่สูง เช่นเดียวกับโรงเรียน พานพิทยาคม อ.พาน จ.เชียงราย และเสาบริเวณบันไดชั้น 1 ขึ้นชั้น 2 มีห้องน้ำที่ใต้บันได มีหน้าต่างและคานชานพัก รัดไว้ (รูปที่ 1-13) ทำให้เกิดพฤติกรรมเสาสั้นที่มีสติฟเนสสูง เมื่อมีแรงแผ่นดินไหวกระทำ เสาต้นดังกล่าวต้องรับแรงแผ่นดินไหวมากกว่าเสาต้นอื่นๆ จึงเกิดการวิบัติด้วยแรงเฉือนดังรูปที่ 1-14 ผนังอิฐก่อปิดหน้าบันที่หลังคาหล่นตกลงมา เนื่องจากอาจมีเสาเอ็นและคานทับหลังที่ไม่ดีพอ

รูปที่ 1-11 อาคาร 3 โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อ.แม่ลาว จ.เชียงราย

(a) เสาที่ได้รับความเสียหายจากแรงเฉือน (b) เสาที่ได้รับความเสียหายจากแรงเฉือนเช่นกัน
รูปที่ 1-12 การวิบัติด้วยแรงเฉือนที่หัวเสา โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อ.แม่ลาว

รูปที่ 1-13 อาคาร 3 ชั้นโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อ.แม่ลาว ที่ได้รับความเสียหาย

รูปที่ 1-14 ความเสียหายจากผนังก่ออิฐหน้าบันล่วงลงมา

อาคารหลังที่ 2 ชื่อว่าอาคาร 1 เป็นอาคาร 3 ชั้น อาคารหลังนี้แม้ว่าจะไม่มีชั้นล่างที่เปิดโล่ง  (รูปที่ 1-15) แต่กลับพบความเสียหายที่เสาต้นนอกและเสาต้นริม เนื่องจากแรงเฉือนในเสาและแรงเฉือนในจุดต่อ เสาเยื้องศูนย์หลุดออกจากตัวอาคารประมาณ 10 ซม.(รูปที่ 1-16) เหล็กเสริมตามยาวดุ้ง แต่เสายังไม่ล้มลงมาเนื่องจากยังมีเหล็กยึดไว้อยู่ นอกจากนี้แล้วผนังในชั้น 1 บางส่วนได้ล้มพักนอกระนาบออกมา เนื่องจากแรงเฉือน และการขยับตัวจนเสียรูปของโครงสร้างอาคาร จากการสังเกตคอนกรีตโครงสร้าง พบว่าใช้กรวดแม่น้ำในการก่อสร้าง เหล็กเสริมตามยาวยังเป็นเหล็กเส้นกลม คาดว่าอาคารดังกล่าวมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี

รูปที่ 1-15 อาคาร 1 เป็นอาคาร 2 ชั้นโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อ.แม่ลาว ที่ได้รับความเสียหาย

รูปที่ 1-16 เสาต้นริมที่ได้รับความเสียหาย อาคาร 1 โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อ.แม่ลาว
   
(a) รอยร้าวเฉือนในเสาที่มุมอาคาร (b) รอยร้าวเฉือนในเสาและผนังจนผนังพัง
(c) รอยร้าวเฉือนในเสาต้นริม (d) รอยร้าวเฉือนในเสาลามจากช่องเปิดในกำแพง
(e) รอยร้าวเฉือนในจุดต่อคาน-เสา

รูปที่ 1-17 ความเสียหายตำแหน่งอื่น ๆ ของ อาคาร 2 ชั้นโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อ.แม่ลาว

อาคารหลังที่ 3 ของโรงเรียนแม่ลาว มีชื่อเรียกว่าอาคาร 2 เป็นอาคารสูง 2 ชั้น (ดังรูปที่ 1-18) มีคานคอนกรีตรัดหัวเสาชั้น 2 และใช้ไม้เป็นโครงหลังคา อาคารหลังนี้ไม่พบความเสียหายในชั้น 1 แต่อย่างใด แต่กลับพบความเสียหายในชั้นที่ 2 ตรงบริเวณหัวเสาของทางขึ้นบันได (รูปที่ 1-19) ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากรูปแบบอาคารที่มีช่องบันไดขนาดใหญ่ (รูปที่ 1-20) ทำให้อาคารไม่สมมาตร ช่องบันไดมีสติฟเนสที่สูงกว่าบริเวณอื่นๆ จึงเกิดการรับแรงเฉือนจากแผ่นดินไหวได้มากกว่า และเกิดการวิบัติที่จุดที่อ่อนแอที่สุด ซึ่งเป็นหัวเสา ที่มีพฤติกรรมเสาสั้นดังรูปที่ 1-19


รูปที่ 1-18 อาคาร 2 โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อ.แม่ลาว

(a) หัวเสาบริเวณบันไดที่ได้รับความเสียหายจนเห็นเหล็กเสริมดุ้งออกมา (b) หัวเสาบริเวณบันไดที่ได้รับความเสียหายจนเห็นเหล็กเสริมดุ้งออกมาอีกด้าน

รูปที่ 1-19 ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในชั้นที่ 2 อาคาร 2 โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม


รูปที่ 1-20 แปลนอาคาร 2 ที่ไม่มีความสม่ำเสมอ

โรงเรียนแห่งที่ 3 ได้แก่โรงเรียบ้านเก่า อ.พาน เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ใต้ถุนโล่ง แต่ได้ปรับปรุงอาคารโดยทำผนังปิดเพื่อใช้งานชั้น 1 ทั้งหมด (รูปที่ 1-21) พบความเสียหายอย่างหนัก ที่หัวเสาเกือบทุกต้น (รูปที่ 1-22) ทั้งนี้เนื่องจากขาดความต่อเนื่องของเสาจากชั้นบนถึงชั้นล่าง โดยชั้น 1 มีเสาเพียง 2 ต้นตามขวางอาคาร ขณะที่ชั้น 2 ถึง 4 มีเสา 4 ต้นตามขวาง ซึ่งเป็นรูปแบบเช่นเดียวกับโรงเรียน พานพิทยาคม อ.พาน อาคารดังกล่าวจะต้องทุบทิ้ง และก่อสร้างใหม่

รูปที่ 1-21 อาคาร 4 ชั้น โรงเรียนบ้านเก่า อ.พาน

รูปที่ 1-22 ความเสียหายด้วยแรงเฉือนที่หัวเสาเกือบทุกต้น

จากรูปแบบความเสียหายที่เกิดขึ้นในอาคารโรงเรียนที่ได้สำรวจมานี้ พบว่า อยู่ในระดับรุนแรง การซ่อมแซมอาคารดังกล่าวไม่คุ้มค่า เมื่อเที่ยบกับการสร้างอาคารใหม่ ซึ่งอาคารโรงเรียนพานพิทยาคม และโรงเรียนแม่ลาววิทยาคมได้ทุบอาคารดังกล่าว และได้ดำเนินการก่อสร้างใหม่แล้ว ส่วนอาคารโรงเรียน บ้านเก่า อ.พาน กำลังดำเนินการของบประมาณในการทุบและก่อสร้างใหม่เช่นกัน

วัดแห่งที่ 1 ที่ได้ลงสำรวจได้แก่ วัดทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อสำรวจรอบ ๆ บริเวณวัด พบความเสียหาย ที่ยอดฉัตรของเจดีย์ มีทั้งหัก และเอียง ดังรูปที่ 1-23(a-b) วัดดังกล่าวมีการการสร้างเจดีย์อยู่บนโครงสร้างอาคารชั้น 2 หรือชั้น 3 ทำให้เสาที่รองรับเจดีย์เกิดความเสียหายด้วยแรงเฉือน ดังรูปที่ 1-23(c)

สำหรับอาคารอุโบสถของวัด เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานของพระประทาน ส่วนชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง ใช้สำหรับเก็บสิ่งของและทำกิจกรรม ชั้นบนส่วนของอุโบสถ พบความเสียหายตามผนัง และส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม ดังรูปที่ 1-24 ส่วนชั้นล่างมีทั้งส่วนที่เปิดโล่งและส่วนที่มีการก่อกำแพงปิด พบว่าส่วนที่ก่อกำแพงปิดได้รับความเสียหายมากกว่า เนื่องจากสติฟเนสสูงกว่าส่วนเสาที่เปิดโล่ง แรงแผ่นดินไหวจึงเข้ากระทำมากกว่า ทางวัดได้ทำการซ่อม โดยก่อกำแพงใหม่ และขยายเสาให้ใหญ่ขึ้น ดังรูปที่ 1-25 แต่จะเห็นว่ายังเป็นการซ่อมแซมที่ยังไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ เนื่องจากใช้เหล็กเสริมเสาเป็นเหล็กรูปพรรณชนิดบาง (light gauge) และไม่ได้ลวงเหล็กไปยังฐานราก ซึ่งเมื่อซ่อมเสร็จแล้วทางวัดได้ฉาบตกแต่งดังรูปที่ 1-25(c)

สำหรับในส่วนของเสาใต้ถุนโล่งนั้น รองรับคาน 2 ระดับ ดังรูปที่1-26 พบรอยร้าวเฉือน บริเวณเสาตำแหน่งใต้คาน แต่เป็นรอยร้าวที่กระทำผิวปูนฉาบเท่านั้น ยังไม่ถึงโครงสร้างคอนกรีตด้านในแต่อย่างใด เนื่องเสามีมีขนาดใหญ่ 30×30 ซม. และระยะห่างของเสาประมาณ 4 ม. นอกจากนี้แล้วยังพบความเสียหายจากแรงบิดและแรงเฉือนในคานที่รอบรับบันไดอุโบสถ ดังรูปที่ 1-26(b)

(a) ยอดฉัตรเจดีหัก (b) เจดีย์เอียงอย่างชัดเจน
(c) เสาที่รองรับเจดีย์วิบัติด้วยแรงเฉือน

รูปที่ 1-23 ความเสียหายของวัดทรายขาว ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย

รูปที่ 1-24 ผนัง และส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม ของวัดทรายขาว อ.พาน ที่ได้รับความเสียหาย

(a) เสาที่มีกำชั้น 1 ทีมีกำแพงได้รับความเสียหาย ทางวัดได้ซ่อมโดยเสริมเหล็กตามยาว (b) จากนั้นทำการขยายเสาด้วยการก่ออิฐรอบเสา และเทปูนกรอกรอบเสา
(c) ภาพภายหลังทำการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว

รูปที่1-25 เสาใต้อุโบสถทรายขาว ที่ได้รับความเสียหายและทำการซ่อมแซมแล้ว

(a) เสาชั้น 1 ส่วนที่ไม่มีกำแพงได้รับความเสียหายจากแรงเฉือนเกิดการกะเทาะของปูนนาบแต่ ยังไม่ถึงส่วนโครงสร้าง
(b) รอยร้าวเฉือนที่คานรองรับบันไดใต้อุโบสถ

รูปที่ 1-26 เสาอุโบสถวัดทรายขาวที่วิบัติด้วยแรงเฉือน

วัดแห่งที่ 2 ที่ได้สำรวจได้แก่ วัดอุดมวารี ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นวัดที่เน้นการปฏิบัติธรรม ไม่มีสิ่งก่อสร้างเจดีย์หรืออาคารขนาดใหญ่ ความเสียหายที่พบได้แก่ เศียรพระพุทธรูปหัก ลงมากองด้านล่าง เนื่องจากแรงสั่นสะเทือน อีกทั้งไม่มีเหล็กเสริมที่แข็งแรงในเศียรพระ จึงทำให้เกิดความเสียหายดังรูปที่ 1-27

รูปที่ 1-27 ความเสียหายต่อพระพุทธรูปที่วัดอุดมวารี ต.ทรายขาว อ.พาน

วัดแห่งที่ 3 ที่ได้สำรวจได้แก่ วัดดงมะเฟือง อ.แม่ลาว พบความเสียหายของกระเบื้องหลังคาอุโบสถ หลุดล่อน ลงมากองอยู่ด้านล่าง (รูปที่ 1-28) ดังนั้นในเขตที่มีความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหว จึงควรปรับปรุงวิธีการยึดแผ่นกระเบื้องด้วยลวดทุกแผ่น ไม่ใช่แผ่นเว้นแผ่นอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังพบความเสียหายที่ผนังอุโบสถซึ่งมีภาพจิตรกรรมของวัดอยู่ เนื่องจากขาดการยึดโยงด้วยคานทับหลังที่แน่นหนา

สำหรับศาลาเอนกประสงค์ของวัด เป็นอาคาร 2 ชั้น แต่สร้างในบริเวณที่มีความแตกต่างกันของระดับดิน ดังรูปที่ 1-29 ทำให้ตัวอาคารที่โดนดินอัดไว้ เกิดพฤติกรรมเสาสั้น มีสติฟเนสที่สูงกว่า เมื่อเกิดแรงแผ่นดินไหวกระทำ จึงเกิดการวิบัติด้วยแรงเฉือนในเสา ทำให้วัดต้องเอาเสาไม้มาค้ำยันไว้ ดังรูปที่ 1-29

(a) ภายนอกอุโบสถวัดดงมะเฟือง กระเบื้องหลังคาหลุดล่อนลงมา (b) ผนังด้านหลังพระประทาน และหลังคาได้รับความเสียหาย
(c) ผนังด้านหน้าอุโบสถ ขาดคานทับหลังที่แน่นหนา จึงได้รับความเสียหาย (d) กระเบื้องหลังคาอุโบสถในวัดดงมะเฟืองได้รับความเสียหาย

รูปที่ 1-28 อุโบสถวัดดงมะเฟือง อ.แม่ลาว

(a) ภาพถ่ายด้านหน้าศาลาเอนกประสงค์

(b) รูปตัดศาลาเอนกประสงค์

รูปที่ 1-29 ศาลาเอนกประสงค์วัดดงมะเฟือง อ.แม่ลาว

(a) ภาพถ่ายด้านหลังอาคาร (b) ภาพขยายรอยร้าวเฉือนที่เสาต้นมุม
(c) ภาพถ่ายจากด้านในอาคาร เสาชั้น 1 ได้รับความเสียหายจนต้องใช้ไม้ค้ำยันไว้ (d) รอยร้าวเฉือนที่เสาต้นมุม ถ่ายจากด้านในอาคาร
(e) รอยร้าวเฉือนที่หัวเสาชั้น 1 เกือบทุกต้น

รูปที่ 1-30 ศาลาเอนกประสงค์วัดดงมะเฟือง อ.แม่ลาว

จากการสำรวจวัดพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเสียหายจากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ซึ่งไม่ใช่โครงสร้างหลัก สามารถซ่อมแซมได้ง่าย ยกเว้นวัดดงมะเฟือง ที่ต้องทุบทิ้งและก่อสร้างใหม่ทั้งหลัง เนื่องจากการซ่อมแซมไม่คุ้มค่ากับการก่อสร้างใหม่

สำหรับวัดทรายขาวที่เกิดความเสียหายด้วยรอยร้าวเฉือนที่คานดังรูปที่ 1-26(b) สามารถซ่อมแซมได้ด้วยวิธี ห่มด้วยเฟอร์โรซีเมนต์ เนื่องจากเป็นวิธีที่เหมาะกับงานที่ต้องการกำลังไม่สูง ก่อสร้างง่าย ความคงทนสูง ราคาต่อหน่วยต่ำ และไม่จำกัดฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ หรืออาจใช้วิธีติดแผ่นเหล็ก หรือวิธีห่มพอลิเมอร์เส้นใย เป็นทางเลือกอื่น ก็ได้

สำหรับความเสียหายที่พบศาลาเอนกประสงค์วัดดงมะเฟือง (รูปที่ 1-30) เป็นการวิบัติด้วยแรงเฉือนที่หัวเสา สามารถซ่อมแซมได้ด้วยวิธี ห่มด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากเป็นอาคารที่ไม่ได้รับน้ำหนักบรรทุกมากนัก เป็นวิธีที่เหมาะกับงานที่ต้องการเพิ่มกำลังอัดปานกลาง ก่อสร้างง่าย ความคงทนสูง ราคาต่อหน่วยต่ำ และไม่จำกัดฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ หรืออาจเลือกใช้วิธี ห่มด้วยเฟอร์โรซีเมนต์เสริมเส้นใย เนื่องจากน้ำหนักเบาสามารถทำงานได้ง่ายเป็นทางเลือกในการซ่อมเสริมกำลังอีกวิธีหนึ่ง

อาคารพาณิชย์ที่ได้สำรวจได้แก่อาคารพาณิชย์ 3 ชั้นบริเวณตลาดแม่ลาว อ.แม่ลาว พบความเสียหาย ที่ด้านข้างอาคารเป็นรอยร้าวในแนวทแยงมุมรูปกากบาท และพบความเสียหายในเสาบริเวณโคนเสาและหัวเสาใต้คานชั้น 2 ทั้งนี้เนื่องจาก อาคารช่วงริมนอก ด้านข้างอาคารจะมีลักษณะเปิดโล่งที่ประตูทั้ง 2 บาน ซึ่งเป็นประตูม้วน ตรงกลางมีกำแพงอิฐก่อ เมื่อเกิดแรงแผ่นดินไหวกระทำ ส่วนที่มีสติฟเนสสูงได้แก่เสาที่มีกำแพงปิด จึงเกิดความเสียหายดังรูปที่ 1-31(b-d) ส่วนด้านหลังอาคาร พบรอยร้าวเฉือนในหัวเสา และยังพบกำแพงเกือบจะหลุดออกนอกระนาบ ทั้งนี้อาจเนื่องจากเหล็กเดือยยึดเสากับผนังมีไม่เพียงพอ

(a) ภาพถ่ายด้านหน้าอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น (b) ภาพถ่ายด้านข้างอาคาร
(c) รอยร้าวเฉือนที่โคนเสาด้านล่าง (d) รอยร้าวเฉือนที่โคนเสาด้านบน
(e) รอยร้าวเฉือนในเสาที่ด้านหลังอาคาร (f) รอยร้าวเฉือนที่เสาใต้คานถ่ายจากด้านในอาคาร

รูปที่ 1-31 การวิบัติของอาคารพาณิชย์ที่ตลาดแม่ลาว อ.แม่ลาว

สำหรับบ้านพักอาศัย 2 ชั้นที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่วนใหญ่จะเกิดกับบ้านพักอาศัยที่ยกสูงใต้ถุนโล่ง เกิดการวิบัติด้วยแรงเฉือนที่หัวเสา โดยมี 1 หลังที่พังทั้งหลังลงมา จากบ้านสองชั้น เหลือเพียงชั้นเดียวดังรูปที่ 1-32 บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ที่ ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว ความอ่อนแอที่ตรวจพบ เนื่องจากการใช้เสาที่มีขนาดเล็ก 20×20 ซม. เหล็กตามแนวยาวเพียง 4 เส้น เหล็กปลอกรับแรงเฉือนมีระยะห่างเกินไป อีกทั้งตำแหน่งที่ตั้งอาคารยังพบรอยเลื่อนเป็นรอยแยกของดินอย่างชัดเจน

(a) ด้านหน้าของบ้านที่พังทั้งหลัง (b) ด้านข้างของบ้านที่พังทั้งหลัง
(c) การวิบัติที่โคนเสาด้านล่างและจุดต่อคานเสาด้านบน (d) แนวรอยเลื่อนที่ตรวจพบที่บ้านดังกล่าว

รูปที่ 1-32 บ้าน 2 ชั้นที่พังทั้งหลัง

บ้านพักอาศัย 2 ชั้นที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กอีก 2 หลัง ที่พบความเสียหายที่หัวเสา เนื่องจากแรงเฉือน แต่ยังไม่พังถล่มลงมา ถึงแม้จะเป็นบ้านที่ก่อสร้างได้ไม่นาน เป็นบ้านที่มีการยกสูง ใต้ถุนโล่ง มีเสาขนาดเล็ก ปริมาณเหล็กเสริมตามยาวไม่เพียงพอ เหล็กปลอกมีระยะเรียงห่างกันเกินไป ซึ่งตรวจพบความเสียหายในลักษณะเดียวกันดังแสดงในรูปที่ 1-33

(a) บ้านพักอาศัยยกสูง ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว (b) รูปแบบการวิบัติด้วยแรงเฉือนที่หัวเสา
(c) รอยร้าวเฉือนขาดจนคอนกรีตด้านบนและล่างไม่สัมผัสกัน (d) เหล็กปลอกมีระยะเรียงที่ห่างกันมากเกินไป จนทำให้เหล็กเสริมตามยาวเกิดการโก่งเดาะ
(e) บ้านพักอาศัยยกสูง ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว (f) เกิดรูปแบบการวิบัตด้วยแรงเฉือนที่หัวเสาเช่นกัน

รูปที่ 1-33 บ้านยกสูงใต้ถุนโล่งที่ได้รับความเสียหายจากการวิบัติด้วยแรงเฉือนที่หัวเสา

โดยบ้าน 2 ชั้นหลังแรกได้ซ่อมแซมเสาด้วยการเสริมเสาอีกต้านที่ด้านข้างเสาเดิม ดังรูปที่ 1-34 โดยการเสริมเหล็กตามยาวและเหล็กปลอก เช่นเดียวกับเสา แต่ยังมีข้อผิดพลาดที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการคือ ไม่ได้ลวงเหล็กเสริมเข้าไปในคาน อย่างไรก็ตามบ้านดังกล่าวใช้กระสอบทรายเป็นค้ำยันเสาในระหว่างซ่อมแซมเสา ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ชาญฉลาด เนื่องจากกระสอบทราย และทรายหาได้ง่าย และยังประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้ค้ำยันเหล็กอีกด้วย โดยบางตำแหน่งมีการเสริมเสาอีกต้นซึ่งเป็นการลดช่วงพาดของคานไปในตัว (รูปที่ 1-34(c))

(a) เสาที่เสริมกำลังโดยเพิ่มเสาที่ด้านข้าง (b) เสาคอนกรีตเมื่อได้เสริมเสาและเทคอนกรีตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
(c) เสาบางตำแหน่งได้ทำการเพิ่มเสาอีกต้นซึ่งเป็นการลดช่วงพาดของคาน

รูปที่ 1-34 บ้านพักอาศัย 2 ชั้นที่ซ่อมแซมเสาด้วยการขยายเสา

จากความเสียหายที่ตรวจพบในบ้านพักอาศัย 2 ชั้น และอาคารพาณิชย์ เป็นความเสียหายเนื่องจากแรงเฉือนที่หัวเสา สามารถซ่อมแซมได้ด้วยวิธี ห่มด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูก เหมาะกับงานที่ต้องการเพิ่มกำลังอัดปานกลาง ก่อสร้างง่าย ความคงทนสูง และไม่ต้องการแรงงานที่มีความชำนาญสูง หรืออาจใช้วิธีห่มด้วยเฟอร์โรซีเมนต์ หรือห่มด้วยพอลิเมอร์เสริมเส้นใยเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

แผ่นดินไหวยังส่งผลกระทบต่อสะพานข้ามแม่น้ำลาว บนถนนพหลโยธิน มีการเคลื่อนตัวจนราวกันตก และผิวจราจรคอนกรีตขยับชนกัน เกิดรอยแยกดังรูปที่ 1-35 ปัจจุบันสะพานข้ามดังกล่าวได้รับการซ่อมแซมด้วยการสกัดพื้นคอนกรีตเดิมออก และเสริมเหล็กและเทคอนกรีตใหม่เข้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยงบประมาณของกรมทางหลวง

(a) ราวกันตกเคลื่อนตัวชนกันจนคอนกรีตแตกกระเทาะออก (b) พื้นสะพานคอนกรีตเคลื่อนตัวกระทบกัน จนเกิดรอยรอยร้าว

รูปที่ 1-35 ความเสียหายที่ตรวจพบในพานข้ามแม่น้ำลาว อ.แม่ลาว

นอกจากนี้ความเสียหายยังเกิดขึ้นกับสะพานลอยคนข้าม 2 แห่งได้แก่สะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลลานนา เขตพื้นที่เชียงราย และสะพานลอยหน้าโรงเรียนบ้านร่องธาร ต.ทรายขาว อ.พาน โดยสะพานลอยดังกล่าวมีการเคลื่อนตัวจนทำให้ ตอม่อสะพานกับคานสะพานห่างกันเกินไป กรมทางหลวง เกรงว่าสะพานจะตกลงมา จึงยกสะพานดังกล่าวลง และใช้โครงสร้างเหล็กปีกกว้างรองรับสะพานไว้ เพื่อรอการซ่อมแซมต่อไป ดังแสดงในรูปที่ 1-36

 

รูปที่ 1-36 สะพานลอยคนข้ามหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลลานนา เขตพื้นที่เชียงราย

ความเสียหายจากการโครงสร้างอื่น ๆ เช่นโรงจอดรถที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ได้เกิดการล้มคว่ำ เนื่องจากการให้รายละเอียดของจุดต่อระหว่างฐานรากกับโครงเหล็กทำได้ไม่ดี ใช้การเชื่อมเหล็กเดือยกับแผ่นเหล็กโครงสร้าง เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้รอยเชื่อมขาด โครงหลังคาโรงจอดรถล้มคว่ำดังรูปที่ 1-37 จุดต่อลักษณะนี้ควรจะใช้เป็นสลักเกลียว (J bolt) ฝังในฐานรากจะสามารถรับน้ำหนักได้ดีกว่า

รูปที่ 1-37 การล้มคว่ำของโรงจอดรถจากการให้รายละเอียดของจุดต่อที่ไม่ดี

หลังคาของสำนักงานเทศบาลตำบลแม่ลาว ที่มุงด้วยกระเบื้องคอนกรีต ได้หลุดล่อนลงมาเช่นเดียวกับหลังคาวัดดงมะเฟือง (รูปที่ 1-38) เนื่องจากการยึดกระเบื้องกับแปอาจใช้ลวดผูกแผ่น เว้นแผ่น ซึ่งสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว อาจไม่เพียงพอ จะต้องใช้การยึดด้วยตะปูเกลียวปลายปล่อยทุกๆ แผ่นจึงสามารถต้านทานการสั่นสะเทือนจากแรงแผ่นดินไหวได้

รูปที่ 1-38 สำนักงานเทศบาลตำบลแม่ลาว อ.แม่ลาว

บทสรุปจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.  2557 นั้น มีดังนี้

  • อาคารที่มีน้ำหนักมาก อาคาร 3-4 ชั้น ที่มีรูปร่างลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีความต่อเนื่องของสติฟเนสในชั้นบนและชั้นล่าง จะเกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหวได้มากกว่า
  • แผ่นดินไหวจะเข้าจู่โจมตำแหน่งที่มีสติฟเนสที่สูงสุดในชั้นล่างของอาคารเป็นอันดับแรก หากตำแหน่งดังกล่าวมีกำลังต้านทานที่ไม่เพียงพอแล้ว ก็จะเกิดการวิบัติตามมา
  • อาคารที่มีความแข็งแรง มีการออกแบบและก่อสร้างที่เป็นไปตามมาตรฐาน แม้ว่าจะไม่ได้รับการออกแบบให้สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวก็ตาม สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวในระดับหนึ่ง และเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
  • อาคารพักอาศัย 1-2 ชั้นที่ยกสูง มีชั้นล่างอ่อน ไม่ได้ออกแบบให้สามารถต้านแรงแผ่นดินไหว มีพฤติกรรมคานแข็งเสาอ่อน จะเกิดการวิบัติด้วยแรงเฉือนที่หัวเสาใต้คาน เนื่องจากกำลังต้านทานแรงเฉือนน้อยกว่าคาน และไม่มีเหล็กปลอกต้านทานแรงเฉือนที่เพียงพอ
  • องค์อาคารทางสถาปัตยกรรมมักถูกละเลยในการออกแบบ และให้รายละเอียดการเสริมเหล็กที่ดี เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวมักได้รับความเสียหายเป็นอันดับแรก