เกณฑ์กำหนดสำหรับการจำแนกอาคารตามลักษณะและรูปทรงของโครงสร้าง – ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวไทย

การพิจารณาอาคารว่ามีลักษณะสม่ำเสมอตามกฎหมายควบคุมอาคารว่าด้วยการก่อสร้างอาคารในเขตที่อาจเกิดแผ่นดินไหวหรือไม่ ให้ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้

1.4.1           บริเวณที่ 1

อาคารในบริเวณที่ 1 จะถือว่ามีลักษณะไม่สม่ำเสมอหากมีความไม่ต่อเนื่องทางกายภาพหรือรูปทรงของโครงสร้างเป็นไปตามนี้

(1) อาคารที่มีประเภทกิจกรรมการใช้อาคารดังนี้

  • อาคารที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ของสาธารณชน เช่น สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สถานีดับเพลิง อาคารศูนย์บรรเทาสาธารณภัย อาคารศูนย์สื่อสาร ท่าอากาศยาน โรงไฟฟ้า โรงผลิตและเก็บน้ำประปา
  • อาคารเก็บวัตถุอันตราย เช่น วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ วัตถุกัมมันตรังสีหรือวัตถุที่ระเบิดได้
  • อาคารสาธารณะที่มีผู้ใช้อาคารได้ตั้งแต่สามร้อยคนขึ้นไป ได้แก่ โรงมหรสพ หอประชุม หอศิลป์ พิพิธภัณสถาน หอสมุด ศาสนสถาน สนามกีฬา อัฒจันทร์ ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานีรถและโรงแรม
  • สถานศึกษาที่รับนักเรียนหรือนักศึกษาได้ตั้งแต่สองร้อยห้าสิบคนขึ้นไป

อาคารดังกล่าวจะถือว่ามีลักษณะไม่สม่ำเสมอหากมีความไม่ต่อเนื่องทางกายภาพของลักษณะหรือรูปทรงของโครงสร้างในแนวดิ่งหรือในแนวราบเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งในหัวข้อที่ 1.5.1 หรือ 1.5.2 ที่จะกล่าวต่อไป

(2) อาคารประเภทกิจกรรมการใช้อาคารอื่นนอกเหนือจากข้อ (1) และมีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไปจะถือว่ามีลักษณะไม่สม่ำเสมอหากมีความไม่ต่อเนื่องทางกายภาพของลักษณะหรือรูปทรงของโครงสร้างในแนวดิ่งเป็นแบบไม่ต่อเนื่องของกำลัง (Discontinuity in capacity) หรือชั้นที่อ่อนแอ (Weak story) (ข้อ 5 ในหัวข้อ 5.1) หรือในแนวราบเป็นไปตามความไม่สม่ำเสมอในเชิงการบิด (Torsional irregularity) พิจารณากรณีที่ไดอะแฟรมเป็นประเภทไม่อ่อนตัว (Not Flexible) (ข้อ 1 ในหัวข้อ 1.5.2)

(3) อาคารประเภทกิจกรรมนอกเหนือจากข้อ (1) และมีความสูงน้อยกว่า 23 เมตร จะถือว่ามีลักษณะไม่สม่ำเสมอหากมีความไม่ต่อเนื่องทางกายภาพของลักษณะหรือรูปทรงของโครงสร้างในแนวดิ่งแบบไม่ต่อเนื่องของกำลัง (Discontinuity in capacity) หรือชั้นที่อ่อนแอ (Weak story) (ข้อ 5 ในหัวข้อ 5.1)

1.4.2           บริเวณที่ 2

อาคารในบริเวณที่ 2 จะถือว่ามีลักษณะไม่สม่ำเสมอหากมีความไม่ต่อเนื่องทางกายภาพของลักษณะหรือรูปทรงของโครงสร้างในแนวดิ่งหรือในแนวราบเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งในหัวข้อที่ 1.5.1 หรือ 1.5.2

มยผ.1301-54 กำหนดว่าในการพิจารณาความไม่สม่ำเสมอของโครงสร้างอาคารนั้น ให้ผู้ออกแบบคำนึงถึงสติฟเนสและกำลังขององค์อาคารและส่วนประกอบต่างๆของอาคาร เช่น ผนังก่ออิฐในอาคารขนาดเล็กที่อาจจะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว

  • นิยามศัพท์ที่จำเป็นต่อการออกแบบต้านแผ่นดินไหว
  • ความไม่สม่ำเสมอของโครงสร้าง